อานันท์ นาคคง
ANANT NARKKONG
Silpathorn Artist 2019
Composer, Ethnomusicologist, Writer and Traveler
อานันท์ นาคคง
ผู้สร้างสรรค์ดนตรี นักมานุษยดุริยางควิทยา ผู้บันทึก และนักเดินทาง
อานันท์ นาคคง เกิดเมื่อ 31 ธันวาคม 2508 เติบโตในพื้นที่สวนบางยี่ขัน ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บิดามารดาเป็นครูศิลปะ ยายเป็นแม่ยกลิเก มีส่วนสร้างพื้นฐานความรักในวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมมาแต่เล็ก
อานันท์เริ่มเรียนระนาดเอกกับครูโองการ กลีบชื่น เมื่อ พ.ศ. 2516 เรียนเพลงพื้นบ้านจากปู่อ๊อด มีสกุล บ้านโพหัก เพลงฉ่อยและอื่นๆ จากพ่อไสว วงษ์งาม พ่อบัวเผื่อน โพธิ์พักตร์ อ่างทอง เรียนเครื่องสายอย่างจริงจังกับครูวัน อ่อนจันทร์ บ้านบางขุนศรี และฆ้องวงกับครูสมหมาย สุวรรณวัฒน์ บ้านพาทยโกศล และเมื่อเข้าศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาดนตรีกับครูพิชิต ชัยเสรี ครูบุญช่วย โสวัตร ครูปัญญา รุ่งเรือง ครูชูชาติ พิทักษากร จนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาดุริยางค์ไทย เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เข้าร่วมวงฟองน้ำ และศึกษาดนตรีอย่างกว้างขวางกับครูบรูซ แกสตัน ครูบุญยงค์ เกตุคง ครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์ุ อานันท์ได้รับทุนการศึกษาปริญญาขั้นสูง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเข้าศึกษาต่อ ณ School of Oriental and African Studies (SOAS) สำนักบูรพาคดีและแอฟริกันศึกษา, University of London โดยศึกษาวิชาด้ามานุษยวิทยาดนตรี (Ethnomusicology) กับครูริชาร์ด วิดเดส (Dr.Richard Widdess) ครูเดวิด ฮิวจ์ (Dr.David Hughes) เรียนกาเมลันอินโดนีเซียกับ ครูอเล็ค รอธ (Dr.Alec Roth) และเรียนดนตรีกัมพูชาจาก ครูมงคล อุม (Um Mongkol) นอกจากนั้นยังใฝ่หาวิชาความรู้อย่างไม่หยุดยั้งด้วยการอ่าน การฟัง และ การเดินทางตลอดเวลา
เริ่มต้นชีวิตการเป็นอาจารย์สอนวิชาดนตรีที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2535 ต่อมาได้ไปสอนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำที่คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รับผิดชอบวิชาด้านมานุษยดุริยางควิทยา ได้ทำหน้าที่ครูดนตรี สร้างแรงบันดาลใจให้ความรู้และบ่มเพาะบุคลากรทางด้านดนตรีให้กับประเทศไทยจำนวนมาก
อานันท์รวบรวมเพื่อนๆ นักเรียนต่างสถาบันการศึกษาที่เป็นนักดนตรีสมัครเล่นที่มีความสามารถ มาร่วมงานตั้งแต่ครั้งวาระครบรอบ 100 ปีเกิดของท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ในปีพุทธศักราช 2524 และได้ใช้ชื่อวงดนตรี "กอไผ่" ขึ้นเวทีศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพเป็นครั้งแรก เมื่อ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2526 โดยนักดนตรียุคก่อตั้ง อาทิ อานันท์ นาคคง, สหรัฐ จันทร์เฉลิม, ประสาร วงศ์วิโรจน์รักษ์, อภิชัย เลี่ยมทอง, ปิยะนุช
นาคคง, วโรดม อิ่มสกุล เป็นต้น และในปลายปีพุทธศักราช 2526 วงกอไผ่ได้เข้าร่วมประกวดการแข่งขันดนตรีไทยเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ จัดโดยมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และสหพันธ์ประสานงานเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ ณ โรงละครแห่งชาติ โดยมีสมาชิกเข้าร่วมเพิ่มเติม อาทิ ชัยภัค ภัทรจินดา, อัษฎาวุธ สาคริก, เอกราช วงศ์เกียรติขจร และได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งประเภทรวมวงและนักร้องนักดนตรีทุกเครื่องมือนับแต่นั้นเป็นต้นมาชื่อเสียงของกอไผ่ ก็เป็นที่รู้จักกันในอย่างกว้างขวางและมีสมาชิกนักดนตรีไทยและนักดนตรีสากลเพิ่มเติมขึ้นอีกมาก โดยผลงานกอไผ่ได้นำเสนอแนวดนตรีที่หลากหลาย แม้จะเริ่มต้นจากดนตรีไทยแนวประเพณีแบบแผน ก็ได้พัฒนาไปยังดนตรีแนวร่วมสมัย ดนตรีโฟลค์-ป็อป, ดนตรีสมัยนิยม, ฟิวชั่นแจ๊ส, เอเชี่ยนมิกซ์ และดนตรีทดลอง และได้เข้าไปร่วมทำดนตรีให้กับทั้งภาพยนตร์ไทย สารคดี กิจกรรมการแสดง ละครเวที นาฏศิลป์ทดลอง งานบันทึกเสียงและงานกิจกรรมสังคมเชิงสร้างสรรค์ โดยผลงานที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากคือภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง ที่เริ่มต้นจากหนังสือเรื่อง “หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์” ที่อานันท์ และอัษฎาวุธร่วมกันเขียน ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้กำกับ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ซึ่งเมื่อถ่ายทำเสร็จและออกฉายต่อสาธารณชนก็ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ในระดับนานาชาติ และได้รับรางวัลมากมาย รวมถึงรางวัลดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นอกจากนี้ วงกอไผ่ยังได้เข้าไปร่วมทำดนตรีให้กับภาพยนตร์อื่น ๆ อาทิ สุริโยไท เปิงมาง กลองผีหนังมนุษย์ และละครโทรทัศน์เรื่องโหมโรงของไทยพีบีเอสในปี 2554 อีกด้วย ตลอด 30 ปีนี้ วงดนตรีกอไผ่ภายใต้การนำของอานันท์ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศไทยเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในประเทศต่างๆ ให้โลกได้รู้จักดนตรีไทยในแง่มุมทั้งประเพณีและดนตรีประยุกต์ ประเทศที่เคยเดินทางไปในนามวงกอไผ่ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สก็อตแลนด์ ฝรั่งเศส ออสเตรีย ออสเตรีเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น อิหร่าน อิสราเอล ไต้หวัน มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมาร์ ฯลฯ
นอกจากการก่อตั้งและเป็นสมาชิกวงกอไผ่ ยังเป็นหนึ่งในสมาชิกวงดนตรีฟองน้ำ ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 สืบทอดความรู้ทางดนตรีร่วมสมัยของอาจารย์บรูซ
แกสตันและครูดนตรีอาวุโสในยุคเริ่มต้นหลายท่าน ทำหน้าที่ทั้งเป็นนักดนตรีประจำวง และบันทึกผลงานประวัติศาสตร์ของฟองน้ำมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อานันท์เป็นสมาชิกกลุ่มศิลปะสร้างสรรค์ “ไอ-ปิคนิค” I-Picnic นับตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่างนักแต่งเพลง นักดนตรีด้นสด นักเต้นรำ นักถ่ายทำงานวิดีโออาร์ตชาวญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และไทย (เป็นสมาชิกหลักคนเดียวที่เป็นคนไทย) ตระเวนสร้างผลงานศิลปะการแสดงร่วมสมัยในประเทศต่างๆทั้งในเอเชียและยุโรปโดยการสนับสนุนของมูลนิธิญี่ปุ่น เป็นสมาชิกวงดนตรีอุษาอัสลิ นำโดยพงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นอกจากนี้ ยังเป็นผู้วางรากฐานการทดลองทำงานดนตรีร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่อีกหลายกลุ่ม โดยเฉพาะการรวมศิษย์มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นวงสีหยดขึ้มาในปี 2552 และวงดนตรีจากศิษย์มหาวิทยาลัยมหิดล ศิลปากร เป็นวงดนตรีแนว World Music ชื่อว่าวันเวิล์ดโปรเจ็ค One World Project ในปี พ.ศ. 2556 มีผลงานเผยแพร่สู่สาธารณะทั่วไป
อานันท์ ได้ร่วมงานกับมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยได้ร่วมเป็นประธานฝ่ายกิจกรรมส่งเสริมดนตรีไทยของมูลนิธิฯและเป็นกรรมการตัดสินการประกวดบรรเลงดนตรีไทยศรทอง รวมทั้งมีบทบาทในการสร้างองค์ความรู้เชิงอนุรักษ์ให้กับศาสตร์ของดนตรีไทย ผ่านการเขียนหนังสือที่ระลึกศิลปินอาวุโส (หนังสือที่ระลึกงานศพ) ให้กับศิลปินดนตรีไทยกว่า 20 เล่ม อาทิ ครูบุญยงค์ เกตุคง, ครูบุญบัง เกตุคง, ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์, ครูบรรเลง สาคริก, ครูสมพงษ์ นุชพิจารณ์, ครูมนัส ขาวปลื้ม, ครูอุทัย พาทยโกศล, ครูจรินทร์ กลิ่นบุปผา, ครูเขียน ศุขสายชล, ครูละมูล เผือกทองคำ, ครูธีระ ภู่มณี, ครูณัฐวิภา มูลธรรมเกณฑ์, ครูกาหลง พึ่งทองคำ ฯลฯ เนื้อหาที่อยู่ในหนังสืองานศพ มีความหากหลายมาก ทั้งการชำระองค์ความรู้ของผู้วายชนม์ ความสำคัญของผู้วายชนม์ต่อชุมชนดนตรีไทย ความรู้ทางช่าง ความรู้ในงานประพันธ์เพลงที่เป็นลักษณะเฉพาะของผู้วายชนม์ ฯลฯ โดยผลงานเหล่านี้ แม้จะมิได้ถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิชาการตามระบบราชการที่เคร่งครัดในระเบียบวิธีวิจัย แต่งานเขียนเหล่านี้เป็นจารึกทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ายิ่งในช่วงเวลาของมรณกรรมและได้รับการเผยแพร่อย่างจริงจังในวาระสำคัญของชีวิต หากไม่มีผู้รวบรวม สมบัติทางความรู้ของดนตรีไทยเหล่านี้ ก็จักสูญหายไปตลอดกาล
นอกจากงานดนตรีที่เติบโตมาจากวัฒนธรรมดนตรีไทยแล้ว อานันท์ ยังได้สร้างสรรค์ดนตรีในรูปแบบต่างๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานนาฎกรรมร่วมสมัย ละครเวที งานสื่อผสม งานจัดวางศิลปะเสียง งานประพันธ์ งานเรียบเรียงและนำเสนอผลงานในรูปแบบที่หลากหลาย โดยได้ร่วมการสร้างสรรค์ที่เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้กับบทสนทนาระหว่างดนตรีกับศิลปะในแขนงอื่นๆ โดยเฉพาะงานเกี่ยวกับละครเวที ซึ่งเป็นผลงานที่ทำอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี เป็นงานต้องใช้ความรู้นอกเหนือไปกว่าการประพันธ์เพลงเพื่อการแสดงคอนเสิร์ต หรือเพลงเพื่อการขับกล่อม เนื่องจากต้องทำการศึกษาเรียนรู้วรรณกรรมการแสดง การวิเคราะห์เนื้อเรื่อง เนื้อหาสาระของละคร เทคนิควิธีการนำเสนอละครผ่านองค์ประกอบต่างๆ การทำงานร่วมกับนักแสดงที่หลากหลายเพศ วัย อายุ และขีดความสามารถ ทำงานร่วมกับผู้กำกับการแสดงที่มีแนวคิดในการออกแบบควบคุมคุณภาพทางการทำงานที่หลากหลาย ต้องทำการร่วมกับองค์ประกอบของไฟแสงสี ฉาก การจัดวางพื้นที่ และผู้ชมละครที่มีความหลากหลาย ผลงานเด่น อาทิ H2O(2542), The Death of Enpedoche (2542), สุดสาคร (2543), Ghost Dance (2552), ร.รัก ล.ลิลิต ลิลิตพระลอ (2552-53), ร่ายพระลอ (2554), วิวาห์พระสมุทร (2555), Rocking Rama (2556) ร่วมกับภัทราวดี มีชูธน คณะภัทราวดีเธียร์เตอร์ ผลงาน แล้ง ชนบทหมายเลข 4 (2530), ละครเพลงกวีนายผี "เราชนะแล้วแม่จ๋า"(2536), "คือผู้อภิวัฒน์ 2547 (2542-43), OCT6102519 สอบถามยอดค้างชำระ (2543), เมืองนิมิตร (2544) ร่วมกับ นิมิตร พิพิธกุล คณะละครพระจันทร์เสี้ยว หรือผลงาน N-I-Cs (2533), สวรรค์มันน่าขึ้น (2538), มาลัยมงคล (2539-41), ฝันกลางไฟ (2553) ร่วมกับประดิษฐ์ ปราสาททอง ผลงาน อโนดาต (2538), น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา (2540) ร่วมกับกลุ่มละครมะขามป้อม ควายไม่กินหญ้า (2538-40) ร่วมกับกลุ่มเด็กรักป่า รวมทั้งงานสร้างสรรค์ร่วมกับศิลปินในระดับนานาชาติอีกหลากหลายผลงาน อาทิ Curious Fish (2542) และ ภควัทคีตา (2542) ร่วมกับ Katsura Kan ผลงาน The Four Puppets (2553) Under, After, and In Between (2553) Puppets beyond Borders (2554) Under, After, and In Between (2555) ร่วมกับ Manuel Lutgenhorst หรือผลงาน Super-Fisherman (2557) I-Picnic (2547-ปัจจุบัน) ร่วมกับ Makoto Nomura
นอกจากนี้ อานันท์ ยังได้สร้างสรรค์งานในมิติอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลงานศิลปะการจัดวางองค์ประกอบเสียง จากข้อมูลเสียงภาคสนาม ประเทศเนปาลและภูฏาน (2549), การแสดงศิลปะการจัดวางองค์ประกอบเสียง ในงานนิทรรศการ “มาจาก (คนละ) ฟากฟ้าของเผิงผา: สู่การทลายเส้นแบ่งของวิธีวิทยาทางโบราณคดี วลีในมานุษยวิทยาและมายาในศิลปกรรม” ณ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า (2551), การแสดงศิลปะการจัดวางองค์ประกอบเสียง “สินบนกรุงเทพ” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (2552), ผลงานสื่อผสม การเล่านิทาน-ละครเงา-ละครใบ้-ละครหน้ากาก-ดนตรีด้นสด-ออกแบบแสง-ศิลปะจัดวาง โดยมีแนวคิดเกี่ยวกับศิลปะชุมชนและสร้างงานร่วมกันระหว่างเครือข่าย ศิลปินไทย-พม่า-อินโดนีเซีย-อเมริกัน กับชนพื้นเมืองในอินโดนีเซียอย่างผลงาน Under, After, and In Between (2553), หรือการร่วมออกแบบ และวางแผน จัดงานนิทรรศการและกิจกรรมทางวิชาการ “AS((EAR))N ประสบการณ์หูสู่อาเซียน” ณ มิวเซียมสยาม (2558) เพลงประกอบภาพยนตร์สารคดีประวัติศาสตร์ ชุด “สามกรุงศรี” (กรุงศรีอยุธยา-กรุงธนบุรี-กรุงรัตนโกสินทร์ 2537) , เพลงประกอบภาพยนตร์ “ฮักในกระติ๊บข้าว” (2559) รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาของงานสร้างภาพยนตร์ “โหมโรง” The Overture (2547), “เปิงมาง กลองผีหนังมนุษย์” The Haunted Drum (2549), “ถึงคนที่ไม่คิดถึง” From Bangkok to Mandalay (2559) ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของอานันท์ในการเป็นผู้รังสรรค์ดนตรี สู่การทำงานร่วมกับศิลปะแขนงอื่นๆ ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมได้อย่างรอบด้าน
อานันท์ โดยการสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศไทย ยังได้มีบทบาทสำคัญในการเป็นคณะกรรมการบริหารวงออร์เคสตราอาเซียน-เกาหลี ซึ่งเป็นวงดนตรีพิเศษที่เกิดจากการร่วมงานระหว่างนักดนตรี นักประพันธ์เพลง นักวิชาการดนตรี ช่างทำเครื่องดนตรี และสื่อมวลชนดนตรีจากกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศเกาหลีใต้ จัดตั้งวงออร์เคสตราขนาด 80 ชิ้น ประกอบด้วยเครื่องดนตรีพื้นเมืองอาเซียนทุกประเทศ นักร้องคอรัส 100 คน สร้างสรรค์งานประพันธ์และนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ด้านดนตรีพื้นเมืองอาเซียนกับโลกปัจจุบัน โดยได้เปิดการแสดงบทเพลงอาเซียนสู่สาธารณชนในรอบปฐมฤกษ์ที่ประเทศเกาหลีใต้ในปีพุทธศักราช 2554 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Asian Traditional Orchestra, ATO ในภายหลัง อานันท์ ยังได้ร่วมก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการดนตรีของวงซีอาเซียนคอนโซแนนท์ C Asean Consonant โดยการสนับสนุนของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญดนตรีจากทุกประเทศอาเซียน และทำงานร่วมกับประกอบด้วยนักดนตรีเยาวชนจาก 10 ประเทศ ทั้งในเชิงวิชาการและการสร้างสรรค์ โดยมีผลงานการแสดงดนตรี การประพันธ์ การเผยแพร่ความรู้สู่กลุ่มเยาวชนในสถานศึกษา การส่งเสริมวัฒนธรรมดนตรีอาเซียน โดยได้เผยแพร่ผลงานทั้งในพื้นที่ของภูมิภาคอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับเกียรติบรรเลงบทเพลงแห่งชาติอาเซียน ณ สำนักเลขาธิการใหญ่กรุงจาร์การ์ต้าในวันเกิดครบรอบ 50 ปีั ของประชาคมอาเซียน รวมทั้งได้เป็นตัวแทนของภูมิภาคอาเซียนในการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 40 ปีของอาเซียนกับสหภาพยุโรปในปีพุทธศักราช 2560
การเดินทางศึกษาดนตรีและผู้คนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอานันท์ โดยพื้นที่ทั้งแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะต่างๆ ของภูมิภาคอาเซียน เป็นพื้นที่ที่อานันท์มีความคุ้นเคยและเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง และอานันท์ ยังมีความสนใจในการศึกษาวัฒนธรรมดนตรีอื่นๆ ในโลก อาทิ วัฒนธรรมดนตรีอินเดีย วัฒนธรรมดนตรีจีน วัฒนธรรมดนตรีอิสลาม วัฒนธรรมดนตรีมองโกเลีย วัฒนธรรมดนตรีอื่นๆ และวัฒนธรรมดนตรีโลก จนเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มักจะมีนักวิชาการ นักดนตรี ศิลปินในแขนงต่างๆ รวมทั้งลูกศิษย์ และผู้สนใจศึกษา ไปร่วมปรึกษา หาความรู้และร่วมเรียนรู้อยู่ด้วยเสมอ บทบาทของอานันท์ในฐานะของผู้ถ่ายทอดความรู้ มิเพียงจำกัดอยู่ในฐานะของความเป็นนักวิชาการ ที่ตั้งคำถาม และเปิดมโนทัศน์ใหม่ๆ ให้กับดนตรี อาทิ ผลงานบทความทางวิชาการ General Observation on Traditional Music in Modern Thai Society, Cultures in ASEAN and the 21st Century ที่ตีพิมพ์โดย UniPress, The Centre of the Arts, National University of Singapore (1998), บทความ The Central Region, The Tuning System of Folk Music in Thailand, Sonic Orders in ASEAN Music -A Field and Laboratory Study of Musical Cultures and Systems in Southeast Asia ที่สนับสนุนโดยทุนวิจัยอาเซียน ประเทศสิงคโปร์ (2546), โครงการวิจัย การศึกษาวงดนตรีร่วมสมัยและผลงานดนตรีไทยร่วมสมัยในสังคมไทยปัจจุบัน (2556) ที่สนับสนุนโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย หรือ ชุดงานวิจัยดนตรี ดุริยะแห่งรัตนโกสินทร์ มูลนิธิหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ส่วนงานศึกษา บันทึกและจัดเก็บองค์ความรู้ สำหรับหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โครงการอัครดุริยะศิลปินราชสดุดี 84 พรรษา ที่อานันท์ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยทั้งสิ้น 14 หัวข้อย่อย พร้อมงานบันทึกเสียง-ภาพยนตร์ ระหว่างปี 2555-2557 ก็ได้แสดงให้เห็นถึงการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านดนตรีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมและดนตรีของภูมิภาคสู่การรับรู้ของนานาชาติ อานันท์ได้มีบทบาทสำคัญในหลายๆ ผลงานที่เป็นส่งเสริมการเรียนรู้ดนตรีและวัฒนธรรมอาเซียน อาทิ การงานค้นคว้าเรื่องการฟื้นฟูวัฒนธรรมการแสดงหนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี และจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอต่อคณะการผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมของยูเนสโกให้ "การสืบทอดและฟื้นฟูหนังใหญ่วัดขนอน" ได้รับรางวัลจากองค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม (The Safeguarding of Intangible Cultural Heritage: ICH) หรือ ผลงานการจัดรายการวิทยุ ที่เผยแพร่ความรู้ทางด้านเพลงไทยเดิม-เพลงพื้นบ้าน-ดนตรีโลก ให้สาธารณชนทั่วไปได้เรียนรู้ผ่านการสื่อสารที่เข้าใจได้อย่างใกล้ชิด ในรายการต่างๆ อาทิ รายการ “เบญจภิรมย์” วิทยุศึกษา F.M. 92.0 MHz ตั้งแต่ 2541 - 2544, รายการ “เพลงเพลินไทย” สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย F.M. 92.5 MHz, รายการ “เพลงดีศรีสยาม” F.M. 92.5 MHz, รายการ “เพลงดีศรีแผ่นดิน” สถานีวิทยุรัฐสภา F.M. 87.5 MHz, รายการ “ดนตรีวิถีโลก” สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย F.M. 105 MHz, รายการ “ดนตรีโลก” วิทยุคนเมืองเรดิโอ วิทยุออนไลน์ ออกอากาศทุกวันพุธ-วันศุกร์, วิทยากรประจำ รายการ “สนทนาภาษาดนตรี” กับบวรพงศ์ ศุภโสภณ F.M. 100.5 MHz วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 22.00 - 24.00, วิทยากรประจำ รายการ “ดนตรีทิพย์” สถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย F.M. 101.5 MHz ช่วงคุยเรื่องเพลงอาเซียน เป็นประจำทุกอาทิตย์สุดท้ายของเดือน นอกจากนี้ อานันท์ยังได้เป็นผู้ริเริ่มโครงการ ASEAN Music and Dance connectivity ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถทางดนตรีนาฎศิลป์อาเซียนแก่ครูอาจารย์ในภูมิภาคของประเทศไทย โดยการสนับสนุนทุนจากกรมอาเซียน กระทรวงต่างประเทศ นำผู้เชี่ยวชาญสาขาดนตรีและนาฎศิลป์จาก 10 ประเทศอาเซียน บรรยายและสาธิตเชิงปฏิบัติการแก่ครูอาจารย์ต่างจังหวัด ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก อีกด้วย
และแม้ว่าสื่อของวิทยุ อาจเปลี่ยนแปรไปตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย แต่อานันท์ ก็ยังสามารถที่จะสร้างทิศทางใหม่ในการสื่อสารความรู้ผ่านช่องทางอื่นๆโดยเฉพาะสื่อในโลกอินเตอร์เน็ต อาทิ ห้องดนตรีไทยคิดส์ (Thaikids.com) ห้องเรียนเพลงดนตรีอาเซียน ที่เป็นงานวิจัยสร้างสรรค์ในรูปแบบมานุษยดุริยางควิทยา (Ethnomusicology) ที่มุ่งการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยทำหน้าที่บันทึกรายงานความเคลื่อนไหว ตั้งข้อสังเกตปรากฎการณ์ทางดนตรีที่สำคัญ โดยครอบคลุมถึง เพลงร้องในลานนวดข้าว - เพลงสวดผี - ดนตรีงานบวชนาค - ดนตรีวณิพกทั่วประเทศไทย - ช่างทำเครื่องดนตรีพื้นบ้านและแหล่งผลิตเครื่องดนตรีทั่วประเทศ - เพลงดนตรีกระเหรี่ยง - เพลงดนตรีกัมพูชาทุกรูปแบบ (เพลงการ์ - อารัก - พินเพียต - มโหรี - เพลงซมัย) - เพลงดนตรีพื้นบ้านลาวหลายพื้นที่ - เพลงดนตรีมอญหลายพื้นที่ - ดนตรีในกลุ่มเกาะอินโดนีเซีย - ดนตรีของชนกลุ่มน้อยในภาคเหนือและภาคอีสาน-ปี่พาทย์มอญและปี่พาทย์ประชันงานวัด ฯลฯ ผ่านสื่อทุกรูปแบบที่สามารถทำได้ ทั้งบทบันทึก บทสัมภาษณ์ นิทรรศการ บทความ หนังสือ รายการวิทยุโทรทัศน์ หลักฐานเสียงจำนวนมาก โดยปัจจุบันห้องเรียนเพลงดนตรีอาเซียนได้สร้างกลุ่มผู้เรียนรู้ทางด้านดนตรีในเครือข่ายสารสนเทศ Facebook มีผู้ติดตามกว่า 4,000 คน
ปัจจุบัน อานันท์ นาคคง ยังเรียนรู้ดนตรีตลอดเวลา ทุกรูปแบบและทุกสถานที่ที่เดินทาง