top of page

ภาพยนต์ หนังเงียบ หนังสั้น หนังทดลอง

ปีพ.ศ. 2527 แหวนวิเศษ ภาพยนตร์เงียบ ฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถ่ายทำเมื่อปีพุทธศักราช 2472 และโปรดเกล้าฯ พระราชทานไปจัดฉายในนามสมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2473 เป็นผลงานที่ทรงสร้างขึ้นด้วยพระปรีชาสามารถทั้งการผูกเรื่อง การกำกับ การถ่ายทำ และการตัดต่อ สอดแทรกคุณธรรม และจินตนาการผ่านการเล่าเรื่องอย่างสนุกสนาน สื่อสารด้วยภาษาง่ายๆ ตัวละครทุกตัวในเรื่อง สวมบทบาทโดยพระประยูรญาติในราชวงศ์จักรี ต่อมาโครงการหอภาพยนตร์แห่งชาติ โดยคุณโดม สุขวงศ์ ได้ซ่อมแซมคุณภาพของฟิล์มต้นฉบับ ทำสำเนาใหม่ นำออกมาเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2527 ที่หอภาพยนตร์ เมื่อครั้งตั้งอยู่ในบริเวณหอศิลปแห่งชาติ ถนนเจ้าฟ้า พระนคร แล้วนำออกเผยแพร่ต่อเนื่องอีกหลายวาระหลายสถานที่ ทั้งสาธารณะและในงานเฉพาะกิจเทคนิคการนำเสนอนั้น เนื่องด้วยเป็นภาพยนตร์เงียบ จึงได้กำหนดให้มีวงดนตรีบรรเลงสดหน้าจอ นำแสดงโดยดาราเด็กเป็นส่วนใหญ่ วงดนตรีหน้าจอก็ต้องเป็นวงเด็กเล่นไปด้วย ในครั้งแรกที่แสดง มีวงดนตรีเด็กชื่อ “กอไผ่” ทำหน้าที่บรรเลงดนตรีสดประกอบ โดยการเรียบเรียงดนตรีของอานันท์ นาคคง เป็นลักษณะดนตรีทดลอง ใช้เครื่องดนตรีไทยต่างประเภทต่างน้ำเสียง ตีความไปตามบุคลิกของตัวละครต่างๆในเรื่อง นำเพลงไทยเดิมทำนองสนุกๆ มาตัดต่อใหม่ วงกอไผ่ได้ทำหน้าที่ต่อเนื่องมาอีกหลายเวที หลายโอกาส แม้ว่าจะเลยวัยเด็กกันไปหมดทั้งมวลแล้วก็ตาม การแสดงดนตรีสดหน้าจอภาพยนตร์ที่กล่าวถึงได้แก่ หอภาพยนตร์แห่งชาติ (2527),หอวชริราวุธานุสรณ์ (2528), โรงละครแห่งชาติ (2530 ประชันภาพยนตร์ “บูรพประทีป”), หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2536 งานฉลอง 100 ปีพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว),พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (2545 พิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิด) ครั้งล่าสุดคือการจัดทำวีดิทัศน์เรื่องแหวนวิเศษในปีพ.ศ. 2552 นั้น เนื่องในวาระงานเปิดศูนย์ 100 ปี หม่อมหลวงบัว กิติยากร จังหวัดนครนายก ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการจัดทำวีดิทัศน์เรื่องแหวนวิเศษขึ้นเป็นที่ระลึกในวาระครอบรอบ 100 ปีเกิดของหม่อมหลวงบัว กิติยากร (นางพรายน้ำ) โดยวงกอไผ่ทำหน้าที่บันทึกเสียงดนตรี มูลนิธิชัยพัฒนาเป็นฝ่ายอำนวยการผลิตและเผยแพร่

สำหรับการทำงานเพลงประกอบภาพยนตร์แหวนวิเศษในครั้งนี้ อานันท์ นาคคง ได้รื้อฟื้นวิธีการที่นายกุ๊น นายโนรี เคยใช้ปฏิบัติมาเป็นพื้นฐานการวางเพลง และการสร้างสีสันให้กับภาพยนตร์เงียบ ใช้เครื่องสายไทยผสมกับเครื่องดนตรีไฟฟ้าสากล อาจมีความแตกต่างจากดนตรีเพื่อการฟัง เนื่องด้วยจุดหมายคือรับใช้ภาพเคลื่อนไหวเป็นสำคัญ เพลงหลักๆ ที่นำมาใช้ ได้แก่ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 7) เพลงเขมรละออองค์เถา (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 7) เพลงโล้ (หน้าพาทย์โบราณ-การเดินทางทางน้ำ) เพลงแสนคำนึง (หลวงประดิษฐไพเราะ ศร ศิลปบรรเลง) เพลงด้อมค่าย (หลวงประดิษฐไพเราะ ศร ศิลปบรรเลง) เพลงเขมรพายเรือ (สองชั้นของเก่า, ชั้นเดียวของครูเฉลิม บัวทั่ง) และเพลงข่า (ของเก่า) เรียบเรียงดนตรีใหม่โดยอานันท์ นาคคง ร่วมบรรเลงโดย ประสาร วงษ์วิโรจน์รักษ์, อัษฎาวุธ สาคริก, ชัยภัค ภัทรจินดา, ณัฐพันธุ์ นุชอำพันธ์, รัชวิทย์ มุสิการุณ, อมร พุทธานุ, วัชระ ปลื้มญาติ บันทึกเสียงโดย มารุต นพรัตน์ งานบันทึกเสียงครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์เครื่องมือ และสถานที่จากมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) บันทึกและผสมเสียงเสร็จสิ้นระหว่างวันที่ 9 -14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปีพ.ศ. 2542 - 2543 สุริโยทัย The Legend of Suriyothai ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ พร้อมมิตรโปรดักชั่น กํากับการแสดงโดย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ประพันธ์เพลงโดย Richard Harvey และวงกอไผ่ร่วมบรรเลงดนตรีไทยบันทึกเสียง ออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2544 และมีการตัดต่อใหม่ เพื่อนําออกฉายอีกครั้งในปี พ.ศ.2547 โดยใช้ชื่อว่า The Legend of Suriyothai มีอัลบั้มเพลงประกอบเผยแพร่ด้วย บทบาทของอานันท์ นาคคงคือร่วมเรียบเรียงดนตรีและข้อมูลเพลงไทยกับ Richard Harvey

เพิ่มเติม: http://www.amithailand.com

 

ปีพ.ศ. 2543 ภาพยนตร์แนวทดลองเยอรมัน Ramkian อานันท์ นาคคงประพันธ์เพลงร่วมกับเกษมสันต์ พรหมสุภา

ปี พ.ศ. 2547 ภาพยนตร์เรื่องโหมโรง The Overture กำกับการแสดงโดยอิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ทำงานเพลงประกอบภาพยนตร์ร่วมกับวงกอไผ่ ออกแบบบทเพลงที่ใช้ในฉากต่างๆตามแนวคิดประวัติศาสตร์ดนตรีไทยและความเหมาะสมของการดำเนินเนื้อเรื่อง บันทึกเสียงเพลงประกอบภาพยนตร์ ตลอดจนวงกอไผ่ได้ทำหน้าที่สร้างความรู้ความเข้าใจทางดนตรีไทยผ่านงานภาพยนตร์หลังจากที่นำออกฉายแล้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปีพ.ศ. 2548 ภาพยนตร์แนวทดลองแคนนาดา Full Moon Party

 

ปีพ.ศ. 2549 เปิงมาง กลองผีหนังมนุษย์The Haunted Drum ภาพยนตร์แนวดราม่า-สยองขวัญ ผลิตโดยพระนครฟิล์ม 

กํากับการแสดงโดยณัฐพีระ ชมศรี และศรัณยา น้อยไทย วงกอไผ่ร่วมออกแบบเพลงประกอบ-บรรเลงบันทึกเสียง ที่ปรึกษาข้อมูลดนตรีไทย (เครดิตดนตรีประกอบโดยไจแอนท์เวฟ) เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 19 เม.ย. 2550 อานันท์ นาคคงร่วมงานในนามวงกอไผ่, เครดิตดนตรีประกอบโดยไจแอนน์เวฟ

 

ปีพ.ศ. 2550 ภาพยนต์แนวทดลองเรื่อง โลงต่อตาย กำกับโดยเอกชัย เอื้อครองธรรม

ปีพ.ศ. 2555 ภาพยนตร์เงียบ "บูรพประทีป" The Light of Asia (PremSanyas) ภาพยนตร์พุทธศาสนาเรื่องแรกของโลก สร้างขึ้นในปี1925 ฉายในเทศกาลภาพยนตร์พุทธปัญญานานาชาติ (International Buddhist Film Festival 2012 Bangkok) โรงภาพยนตร์สกาล่า เป็นการแสดงด้นสดหน้าจอภาพยนตร์ นักดนตรีประกอบไปด้วยนักดนตรีอินเดีย อเมริกัน ไทย สิงคโปร์ ออกแบบโครงสร้างการด้นสดโดยอานันท์ นาคคง







 

 

 

 

 

ปีพ.ศ. 2558 สารคดี สงครามเก้าทัพ ณ พิพิธภัณฑ์ศิริราช อานันท์ นาคคง ประพันธ์เพลง 

 

ปีพ.ศ.2559 ภาพยนตร์สารคดีเสียงอีสาน ฮักในกระติ๊บข้าว กำกับโดยเข็มทอง โมราษฎร์ อานันท์ นาคคง ร่วมกับอ้น แคนเขียว ประพันธ์เพลง

กรุงศรีอยุธยา

กรุงธนบุรี

กรุงรัตนโกสินทร์

ปีพ.ศ.2537-38 ภาพยนตร์สารคดีชุด "สามกรุงศรี" เล่าถึงความเจริญและความเสื่อมของศูนย์กลางการปกครองของสยามในอดีต ได้แก่ กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ กำกับโดยสุรพงษ์ พินิจค้า บทภาพยนตร์และคำบรรยายโดยสุจิตต์ วงษ์เทศ อานันท์ นาคคง และชัยภัค ภัทรจินดา ประพันธ์และเรียบเรียงดนตรีประกอบ โดยที่สุจิตต์ วงษ์เทศ กำหนดให้เพลงต่างๆในภาพยนตร์สารคดี ต้องใช้ทำนองเพลงมโหรีโบราณ "พระทอง" และ "นางนาค" เป็น theme ในการทำงานเรียบเรียงดนตรีใหม่เท่านั้น

bottom of page